ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลเขาค้อ จากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย จึงทำให้เกิดสงครามก่อการร้ายขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 โดยเฉพาะในบริเวณเขตพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย ซึ่งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เหมาะสม สภาพทั่วไปเป็นป่าเขาสลับซับซ้อนยากที่รัฐบาลจะปราบปรามได้ โดยใช้เขาค้อเป็นศูนย์กลาง ต่อมากองทัพบกมอบหมายให้กองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยจัดตั้งกองบัญชาการผสม 294 ขึ้นที่สนามบินหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2511 ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของชุดควบคุมที่ 33 และได้ดำเนินการต่อสู้อย่างต่อเนื่องกันมา โดยผ่านยุทธการที่สำคัญๆ รวม 13 ครั้ง เช่น ยุทธการภูขี้เถ้า ยุทธการรามสูร ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 1 – 3 ยุทธการผาเมืองเกรียงไกร ฯลฯ เป็นต้น เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2514 – 2515 กองทัพภาคที่ 3 ได้เริ่มสร้างถนนแยกจาก สายพิษณุโลก – หล่มสัก ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 100 บ้านแคมป์สนไปยังบ้านเล่าลือ และในปี พ.ศ. 2517 ได้มีแนวความคิดที่จะลดความกดดันขัดขวางของพวกคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดยสร้างถนนอีกสายหนึ่งจาก บ้านนางั่ว – บ้านสะเดาะพง เพื่อเชื่อมถนนสายแรกที่บ้านสะเดาะพง แต่ได้รับการการต่อต้านขัดขวางอย่างรุนแรง จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมกองรบพิเศษค่ายสฤษดิ์เสนา จังหวัดพิษณุโลก และทรงมีพระราชดำริให้ใช้ “แผนยุทธศาสตร์พัฒนา” เพื่อยุติสถานการณ์สู้รบ โดยที่จะใช้พื้นที่สองข้างทางเป็นประโยชน์กับราษฎรทั่วๆไปมิใช่เฉพาะทหารเท่านั้น กองทัพภาคที่ 3 จึงได้จัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์พัฒนาขึ้น โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง เป็นทุนในการก่อสร้างครั้งแรก โดยตั้งเป็น “กองอำนวยการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก” โดยมีงานหลักคือ ก่อสร้างทางลาดยางสาย ทุ่งสมอ – เขาค้อ ตลอดสาย การฝึกราษฎรอาสาสมัคร การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎร การจัดหาแหล่งน้ำการเกษตรและเรียกโครงการนี้ว่า “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก” โดยเริ่มดำเนินการ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2520 เป็นต้นมา ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของบริเวณพื้นที่ดังกล่าวจึงได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเขาค้อ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2527 โดยมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2527 โดยรวมเอาพื้นที่ ตำบลแคมป์สน จำนวน 12 หมู่บ้านตำบลทุ่งสมอ จำนวน 8 หมู่บ้าน ซึ่งแยกมาจากอำเภอหล่มสัก และพื้นที่ตำบลนางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อีก 3 หมู่บ้าน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดเป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กเดิม จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเขาค้อ ซึ่งการปกครองขึ้นกับอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ สำหรับเหตุผลการจัดตั้งชื่อกิ่งอำเภอเขาค้อมีอยู่ว่า“เนื่องจากบริเวณที่ตั้งกิ่งอำเภอเขาค้ออยู่ในบริเวณเขาค้อ สภาพพื้นที่ทางธรรมชาติเป็นภูเขาและมีต้นค้อมาก และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ชื่อ เขาค้อ เป็นที่รู้จักทั่วไปในฐานะเป็นพื้นที่ที่มีพลเรือน ตำรวจ ทหาร ได้พลีชีพเพื่อชาติไทยในการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ อันเป็นวีรกรรมที่ทราบโดยทั่วกัน” กิ่งอำเภอเขาค้อ ได้มีความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วตลอดมา โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ปัจจุบันอำเภอเขาค้อได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญระดับประเทศ นับวันจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้น ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย จึงได้พระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอเขาค้อเป็นอำเภอเขาค้อ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 108 ตอนที่ 107 ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 เป็นต้นไป ทั้งนี้โดยมุ่งหมายที่จะให้อำเภอเขาค้อเป็นหน่วยงานของทางราชการที่จะอำนวยบริการของรัฐบาลไปสู่ประชาชนได้กว้างขวาง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น อำเภอเขาค้อตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดเพชรบูรณ์ ระยะทางห่างจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 47 กิโลเมตร และระยะทางห่างจากอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 51 กิโลเมตร มีพื้นที่การปกครอง ประมาณ 1,333 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 833,125 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าไม้ 753,415 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 75,917 ไร่ โดยแยกเป็นพื้นที่ทำนา 2,400 ไร่ พืชไร่ 68,007 ไร่ ไม้ผลยืนต้น 3,2500 ไร่ พืชผัก 2,200 ไร่ ไม้ดอกไม้ประดับ 60 ไร่ นอกนั้นเป็นพื้นที่อยู่อาศัย3,793 ไร่ โรงพยาบาลได้รับงบประมาณในการก่อสร้างเป็น โรงพยาบาลสาขาของโรงพยาบาลหล่มสัก เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ตั้งอยู่บ้านกนกงาม หมู่ที่ 1 ตำบลเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี งบประมาณ 2533 ได้รับการขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2534 ในขณะนั้นไม่มีแพทย์ประจำ ในเดือนพฤษภาคม 2536 ได้รับการจัดสรรแพทย์ประจำ จำนวน 1 คน คือ นายแพทย์กอบชัย จิรชาญชัย ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ เริ่มเปิดดำเนินงานให้บริการรับผู้ป่วยในเดือน ตุลาคม 2536 ในปี 2538 ได้รับจัดสรรงบประมาณก่อสร้างเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ตามแบบ 8490 เริ่มเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อ เดือน พฤษภาคม 2540 โดยมีพื้นที่ ประมาณ 60 ไร่